วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551

โรงเรียนช่างถมนครศรีธรรมราช



..................ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนช่างถมนี้คือพระภิกษุชาวนครศรีธรรมราชรูปหนึ่ง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็น พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช (ม่วง รัตนธัชโชเปรียญ) พ.ศ. 2396 - 2477 เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระสิริธรรมมุนี สถิต ณ วัดท่าโพธิ์ ชาวนครฯ เรียกท่านว่า "เจ้าคุณวัดท่าโพธิ์" ทางด้านศาสนาท่านเป็นเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช แต่อีกทางหนึ่งท่านเป็นผู้จัดการการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาชาวมณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑล ปัตตานี ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าของชาวปักษ์ใต้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริ ให้จัดการศึกษาขึ้นในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2421 เป็นครั้งแรกนั้น ได้ทรงแต่งตั้งให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่น วชิรญาณวโรรส เป็นองค์ประธานอำนวยการศึกษาและพระศาสนา ในหัวเมืองมณฑลกรุงเทพฯ และในมณฑลหัวเมืองตลอดพระราชอาณาจักร กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเลือกพระรัตนธัชมุนี เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระสิริธรรมมุนี ขึ้น ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานตราตำแหน่ง ตั้งท่านเจ้าคุณเป็นผู้อำนวยการศึกษาและการพระศาสนามณฑลนครศรีธรรมราชกับมณฑลปัตตานี การจัดการศึกษาครั้งนี้ มิใช่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยเหตุประการแรกคือ การคมนาคมไปมาไม่สะดวกอย่างยิ่ง ประการที่สอง เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจิตใจของคน เปลี่ยนแปลงแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม และต้องฝ่าอำนาจบุคคลหมู่มากที่มีอยู่ด้วยประการต่างๆ ร้อยแปดพัน ประการ เฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลปัตตานี ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมีลัทธิประเพณีต่างกับชาวพุทธ การจัดการศึกษาย่อมยากยิ่งขึ้นเป็นอันมาก แต่ท่านเจ้าคุณพระรัตนธัชมุนีได้ดำเนินการนั้นด้วยสติปัญญาอันสุขุม เป็น ผลลุล่วงได้ด้วยความราบรื่นสมพระประสงค์ทุกประการ ท่านเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาให้แก่ชาวปักษ์ใต้แก่ชาวนครศรีธรรมราช มิใช่แต่วิชาสามัญเท่านั้น (วิชาวิสามัญคือวิชาชีพ) กล่าวโดยเฉพาะ ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชา ช่างถมขึ้นในวัดท่าโพธิ์ ในปี พ.ศ. 2456 หลังจากการทำเครื่องถมนครได้ซบเซาตกต่ำลงไปมากท่านเจ้าคุณได้สละเงินนิตยภัตที่ท่านได้รับพระราชทานจ่ายเป็นเงินเดือนแก่ครูผู้สอนกิจการ กิจการของโรงเรียนนี้ได้ดำเนินมาหลายปี จนในที่ สุดกระทรวงศึกษาธิการได้เห็นความสำคัญของศิลปหัตถกรรมประเภทนี้ขึ้นมา และได้รับเอาโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนของรัฐ ในปัจจุบันนี้ โรงเรียนนี้ได้เจริญเติบโตเป็นโรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และต่อมา ได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษานครศรีธรรมราชเป็นสถานศึกษาของชาติไทยแห่งเดียวเท่านั้นที่สอนวิชาช่างถม ทำเครื่องถมศิลปหัตถกรรมประจำชาติของไทย และนักศึกษาที่จบจากโรงเรียนนี้ จะเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่ง ศิลปหัตถกรรมอันนี้ของชาติ เป็นผู้สร้างเกียรติและศักดิ์ศรีแก่ชาวนครศรีธรรมราชสืบไปชั่วกาลนาน


เนื้อหาต่อไป

ประวัติของ น.ส.หทัยรัตน์ บรรจงเมือง

๑.ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย
๒.
โรงเรียนช่างถมนครศรีธรรมราช
๓.
เครื่องถมในกรุงเทพมหานคร
๔.
วิชาช่างถมโรงเรียนเพาะช่าง
๕.ถมจุฑาธุช
๖.เครื่องถมไทยในปัจจุบัน
๗.มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
๘.ประเภทของเครื่องถมไทย
๙.หนังสือ
๑๐.ภาพเครื่องถม
๑๑.คำถาม
๑๒.ขั้นตอนการปฎิบัติงาน
๑๓.เครื่องถม

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เครื่องถมนครศรีฯสวยทุกอย่างเลย...เคยไปเที่ยวที่วัดพระธาตุฯที่นครศรีธรรมราชได้ซื้อสร้อยข้อมมือมาให้ลูก ลูกสาวชอบมาก สวยจิงๆๆค่ะ